ยินดีต้อนรับสู่KM

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ธรรมาภิบาล

              ความหมายของธรรมาภิบาล มาจากคำว่า Good Governance ในทางการบริหารภาคราชการและบรรษัทภิบาล (corporate governance) เป็นแนวคิดการบริหารภาคเอกชนที่ต่างต้องมุ่งเน้นความถูกต้องดีงาม ดังความหมายของธรรมาภิบาล


ธีรยุทธ บุญมี (2541:9-11) เรียก Good Governance ว่าธรรมรัฐ และได้ให้ความหมายว่า คือการบริหารจัดการประเทศที่ดีในทุกด้าน และทุกระดับ การบริหารการจัดการที่ดีดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีหลักคิดว่าทั้งประชาชน ข้าราชการบริหารประเทศเป็นหุ้นส่วน (partnership) กันในการกำหนดชะตากรรมประเทศแต่การเป็นหุ้นส่วนไม่ใช่หลักประกันว่าจะเกิดธรรมรัฐ หรือ Good Governance เท่านั้นยังต้องหมายถึง การมีกฎเกณฑ์กติกาที่จะให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ ความเป็นธรรมและการมีส่วนร่วมของสังคมในการกำหนดนโยบายบริหาร ตรวจสอบประเมินผลอย่างจริงจัง

อานันท์ ปันยารชุน (2541:5) ได้ให้ความหมายของธรรมาภิบาลว่า เป็นผลลัพธ์ของการจัดการกิจกรรมซึ่งบุคคลและสถาบันทั่วไป ภาครัฐและภาคเอกชนมีผลประโยชน์ร่วมกัน ได้กระทำลงไปในหลายทางมีลักษณะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจนำไปสู่การผสมผสานผลประโยชน์ที่หลากหลายและขัดแย้งกันได้โดยสาระธรรมาภิบาล หรือ Good Governance คือองค์ประกอบที่ทำให้เกิดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายที่กำหนดไว้จะได้ผล หมายถึง การมีบรรทัดฐาน

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (2541:19-20) กล่าวถึงความหมายธรรมรัฐหรือ ธรรมาภิบาล ไว้ดังนี้ (1) ธรรมรัฐ หมายถึง กระบวนความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐ ภาคสังคม ภาคเอกชน และประชาชนโดยทั่วไปในการที่จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ (2) ธรรมรัฐ หมายถึง การที่กลไกของรัฐทั้งทางการเมืองและการบริหารมีความแข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพ สะอาดโปร่งใส รับผิดชอบ หรือ(3) ธรรมรัฐ หมายถึง การบริหารหรือการปกครองที่ดีหรือการปกครอง หรือการบริหารที่เป็นธรรม โดยจะมีองค์ประกอบ 3 ประการ ความโปร่งใส (transparency ) การตรวจสอบได้ (accountability) และความมีประสิทธิภาพ (efficiency )

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (2542:10) ได้ให้ความหมายของธรรมาภิบาลว่า เป็นระบบโครงสร้าง กระบวนการและความสัมพันธ์ของภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคมในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของรัฐซึ่งเป็นการบริหารจัดการที่ดี

ปรีชา ช้างขวัญยืน (2542:103) ได้ให้ความหมายของ ธรรมาภิบาลว่า เป็นรัฐที่มุ่งความดีงาม ความมีศีลธรรมเป็นจุดหมายสูงสุด ความมั่งคั่งของรัฐมีไว้เพื่อกระจายทรัพย์ไปสู่คนทุกหมู่เหล่า ไม่ให้เดือดร้อนด้วยเรื่องการอุปโภค บริโภค ในนโยบายด้านเศรษฐกิจนั้น ต้องได้ทรัพย์มาด้วยความชอบธรรม และมีส่วนเกื้อกูลประชาชนการใช้ทรัพย์ก็ต้องใช้โดยธรรม มุ่งสิ่งที่เป็นธรรม เป็นความดี สนับสนุนให้คนประพฤติดี คนควรบูชาความดีไม่ใช่ทรัพย์ ด้วยเหตุนี้ธรรมาภิบาล จึงมุ่งเน้นสร้างคนให้มีคุณงามความดี ให้บูชาคุณงามความดีมากกว่าจะเน้นระบอบการปกครอง

ปัญญา ฉายะจินดาวงษ์ (2548 : 4) กล่าวว่า ธรรมาภิบาล (good governance) หมายถึง การบริหารการจัดการทรัพยากรทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาของประเทศ โดยมีการเชื่อมโยงองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนของสังคม คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และให้มี การสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองอย่างสมดุล ส่งผลให้สังคมดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติตลอดจนมีการใช้อำนาจในการพัฒนาประเทศชาติให้เป็นไปอย่างมั่นคงยั่งยืนและมีเสถียรภาพ

วิพร เกตุแก้ว (2549:225-226) ได้กล่าวไว้ในบทความเรื่องธรรมาภิบาลในองค์กรว่านักวิชาการพยายามแปลคำว่า good governance ที่ใช้ในนานาประเทศ ว่าให้ความหมายของธรรมาภิบาล (good governance ) ว่าธรรมรัฐ ประชารัฐ กลไกภาคราชการที่มีคุณภาพ ประชาคมราชการที่ดี หรือธรรมาภิบาล ซึ่งตามพจนานุกรมหมายถึง ข้อบัญญัติ (the act) กระบวนการ(process) อำนาจในการปกครอง (power of government) รัฐบาล (government) หรือสภาวะในการถูกปกครอง (The State of being govermed ) นับเป็นหลักการในการบริหารสมัยใหม่ที่เน้นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม ความยุติธรรม ความสุจริตและความโปร่งใสในสังคม

สุทัศนา สุทธิกุลสมบัติ (ออนไลน์) กล่าวไว้ว่าธรรมาภิบาล (good governance) คือ การปกครอง การบริหาร การจัดการ การควบคุมดูแล กิจการให้เป็นไปในครรลองธรรม นอกจากนี้ยังหมายถึงการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน ธรรมที่ใช้ในการบริหารงานนี้ มีความหมายอย่างกว้าง กล่าวคือหาได้มีความหมายเพียงหลักธรรมทางศาสนาเท่านั้น แต่รวมถึงศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรมและความถูกต้องชอบธรรมทั้งปวงซึ่งวิจารณญาณที่พึงมีและพึงประพฤติปฏิบัติ อาทิ ความโปร่งใสตรวจสอบได้ การปราศจากการแทรกแซงจากองค์กรภายนอก

พรนพ พุกกะพันธุ์ (2545:234) ให้ความหมาย good governance ไว้ว่า เป็นผลลัพธ์ของการจัดกิจกรรมซึ่งบุคคลหรือสถาบันทั่วไป ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีผลประโยชน์ร่วมกันได้กระทำลงไปในหลายทาง มีลักษณะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจนำไปสู่การผสมผสานประโยชน์ที่หลากหลายที่ขัดแย้งกันได้

สมบูรณ์ ศิริประชัย (2550: ออนไลน์) กล่าวถึง good governance ตามแบบธนาคารโลกว่าเป็นลักษณะและวิถีทางของการใช้อำนาจในการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจและทางสังคมของประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (1) การบริการของรัฐที่มีประสิทธิภาพ (2) ระบบศาลที่เป็นอิสระ (3) ระบบกฎหมายที่บังคับสัญญา (4) การบริหารกองทุนสาธารณะที่มีลักษณะรับผิดต่อประชาสังคม (5) การมีระบบตรวจสอบทางบัญชีที่เป็นอิสระ ซึ่งรับผิดชอบต่อตัวแทนในรัฐสภา (6) การเคารพในกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในทุกระดับของรัฐบาล (7) โครงสร้างสถาบันที่มีลักษณะพหุนิยม (8) การมีสื่อสารมวลชนที่เป็นอิสระ

Kaufman ( 2003 : 1) นักวิชาการจากธนาคารโลกให้ความหมายของธรรมาภิบาลว่า ชุดของประเพณี สถาบันทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการกำหนดว่าอำนาจ (Authority) ถูกใช้อย่างไรในแต่ละประเทศ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งอาจถอดนิยามนี้ออกเป็น 3 ประการ คือ ประการแรก กระบวนการในการคัดเลือก ตรวจสอบ (Monitoring) และเปลี่ยนรัฐบาล ประการที่สอง ความสามารถในการกำหนดและปฏิบัติตามนโยบายที่ดี รวมทั้งการให้บริการสาธารณะ ประการที่สาม ความเคารพของประชาชนและรัฐต่อสถาบันที่ปกครอง (Govern) ปฏิสัมพันธ์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างประชาชนและรัฐ แง่มุมดังกล่าวข้างต้นสามารถถอดออกมาสร้างตัวชี้วัดได้ 6 ประเภท ตัวอย่างเช่น ตัวชี้วัดการมีสิทธิ์มีเสียงของประชาชนและการรับผิดต่อประชาชน (Voice and accountability) นั้น คำนวณขึ้นได้จากตัวบ่งชี้ในหลายปัจจัยด้วยกันอาทิเช่น กระบวนการทางการเมือง สิทธิเสรีภาพและสิทธิทางการเมืองของประชาชน ตัวบ่งชี้เหล่านี้จะเป็นตัวที่ชี้ให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจในด้านต่างๆ ของรัฐบาล และยังรวมถึงตัวบ่งชี้ในเรื่องของความเป็นอิสระของสื่อสารมวลชนจากอำนาจทางการเมือง เพราะสื่อเหล่านี้จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของผู้มีอำนาจทางการเมืองและมีอิทธิพลในการทำให้ผู้มีอำนาจเหล่านี้ต้องรับผิดต่อประชาชนในการกระทำหรือการตัดสินใจของตน

          สรุปได้ว่าธรรมาภิบาล หมายถึง การปกครอง การบริหาร การจัดการ การควบคุมดูแลกิจการ กิจกรรมขององค์กร ให้เป็นไปตามครรลองธรรม ในทุกภาคส่วนของประเทศควรมีการบริหารจัดการที่ดี เริ่มจากภาครัฐต้องเสริมสร้างและปฏิรูปการเมือง กฎหมาย มีการบริหารราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ภาคเอกชนจะมีส่วนในการประกอบธุรกิจที่ดีและดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม และภาคประชาชนหรือองค์กรในสังคมจะมีส่วนช่วยเกื้อหนุนทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยการระดมประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนให้ตั้งอยู่ในความถูกต้องได้ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติมีความเจริญอย่างยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น